Socialist Revolutionary Party (-)

พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (-)

พรรคสังคมนิยมปฏิวัติเป็นพรรคการเมืองรัสเซียที่สืบทอดอุดมการณ์ปฏิวัติของพวกนารอดนิค (Narodnik)* หรือรัสเซียปอปปูลิสต์ (Russian Populist)* โดยกลุ่มสังคมนิยมต่าง ๆ ซึ่งมีกลุ่มสหภาพตอนเหนือแห่งสังคมนิยมปฏิวัติ (Northern Union of Socialist Revolutionaries) และกลุ่มพรรคแรงงานการปลดปล่อยทางการเมืองแห่งรัสเซีย (Workers’ Party of Political Liberation of Russia) เป็นแกนนำรวมตัวกันจัดตั้งขึ้นเป็นพรรคใน ค.ศ. ๑๙๐๑ และเรียกชื่อว่าพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ พรรคสังคมนิยมปฏิวัติได้ชื่อว่าเป็นพรรคทางเลือกของประชาชนนอกไปจากพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซีย (Russian Social Democratic Labour Party-RSDLP)* และเป็นที่นิยมของชาวนาและเกษตรกรนโยบายหลักของพรรคคือการปฏิรูปที่ดินเพื่อชาวนา และก่อการปฏิวัติโค่นล้มระบบซาร์เพื่อสร้างสังคมแห่งความเสมอภาค ในระยะแรกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติเน้นแนวทางการเคลื่อนไหวด้วยวิธีการรุนแรงและการก่อการร้าย แต่หลัง ค.ศ. ๑๙๐๘ เป็นต้นมามีนโยบายประนีประนอมมากขึ้นและลดยุทธวิธีก่อการร้ายและลอบสังหาร หลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ พรรคสังคมนิยมปฏิวัติมีบทบาทสำคัญในรัฐบาลเฉพาะกาลและสภาโซเวียตเพราะผู้นำพรรคหลายคนดำรงตำแหน่งสำคัญทางการเมือง อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งภายในพรรคเกี่ยวกับนโยบายสงครามและการก่อการปฏิวัติทำให้สมาชิกพรรคปีกซ้ายหันมาสนับสนุนพรรคบอลเชวิค (Bolsheviks)* ส่วนสมาชิกปีกขวาและสายกลางสนับสนุนเมนเชวิค (Mensheviks)* และกลุ่มสังคมนิยมอื่น ๆ หลังพรรคบอลเชวิคยึดอำนาจทางการเมืองได้ในการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ค.ศ. ๑๙๑๗ สมาชิกปีกซ้ายของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติได้เข้าร่วมกับรัฐบาลโซเวียต

 การก่อตั้งพรรคสังคมนิยมปฏิวัติเป็นผลสืบเนื่องจากความสำเร็จของการปลงพระชนม์ซาร์อะเล็กซานเดอร์ที่ ๓ (Alexander III ค.ศ. ๑๘๕๕-๑๘๘๑)* ของสมาชิกองค์การปฏิวัติหัวรุนแรงที่เรียกว่า กลุ่มเจตจำนงประชาชน (People’s Will) หรือนารอดนายาวอลยา (Narodnaya Volya) รัฐบาลดำเนินการกวาดล้างและปราบปรามขบวนการปฏิวัติอย่างเด็ดขาดจนกลุ่มเจตจำนงประชาชนถูกทำลายลงเกือบหมดสิ้น สมาชิกที่หนีรอดได้ในเวลาต่อมาหันมาปรับยุทธวิธีการเคลื่อนไหวใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลในต้นทศวรรษ ๑๘๙๐ มีการรวมตัวกันจัดทำนิตยสารวิชาการชื่อ Russkoe Bogatstvo (Russian Wealth) เสนอความคิดเกี่ยวกับปัญหาสังคมเกษตรกรรมและความยากจนในชนบทในแง่มุมต่าง ๆ และชี้แนะการพัฒนาชนบทและการยกระดับคุณภาพชีวิตของชาวนาและอื่น ๆ นิตยสารดังกล่าวซึ่งจัดทำนอกประเทศและถูกลักลอบเข้ามาเผยแพร่ในรัสเซียในเวลาอันรวดเร็วก็เป็นที่นิยมอ่านกันอย่างกว้างขวาง และกลายเป็นแหล่งข้อมูลที่ปัญญาชนปฏิวัติใช้ศึกษาเพื่อสร้างทฤษฎีการเมืองและวางนโยบายด้านเกษตรกรรมของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติในเวลาต่อมา ในปลายทศวรรษ ๑๘๙๐ เมื่อกลุ่มสังคมนิยมแนวทางลัทธิมากซ์พยายามรวมตัวกันจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองของชนชั้นกรรมาชีพขึ้นและเคลื่อนไหวโจมตีแนวทางปฏิวัติของพวกนารอดนิคโดยชี้ให้เห็นว่ากรรมกรไม่ใช่ชาวนาคือพลังของการปฏิวัติและรัสเซียซึ่งก้าวสู่เส้นทางระบบทุนนิยมต้องมีการปฏิวัติตามแนวทางลัทธิมากซ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มลัทธิมากซ์ดังกล่าวทำให้นักสังคมนิยมนารอดนิคทั้งในและนอกประเทศเห็นความจำเป็นที่จะต้องรวมตัวกันเพื่อต่อสู้ จึงมีการรวมกลุ่มในภูมิภาคต่าง ๆ จัดตั้งเป็นองค์การปฏิวัติขึ้นประกอบด้วยกลุ่มสหภาพตอนเหนือแห่งสังคมปฏิวัติ (ค.ศ. ๑๘๙๖) โดยมีฐานปฏิบัติการอยู่ที่เมืองซาราตอฟ (Saratov) กลุ่มสังคมนิยมปฏิวัติรัสเซียใต้ (South Russian Socialist Revolutionaries ค.ศ. ๑๘๙๗) ที่เมืองโวโรเนจ (Voronezh) และกลุ่มพรรคแรงงานการปลดปล่อยทางการเมืองแห่งรัสเซีย (ค.ศ. ๑๘๙๗) ที่เมืองมินสค์ (Minsk)

 ใน ค.ศ. ๑๙๐๐ แกนนำคนสำคัญขององค์การปฏิวัติทั้ง ๓ กลุ่ม ซึ่งรวมทั้งกรีกอรี เกียร์ชูนี (Grigori Gershuni) นีโคไล มีไฮลอฟสกี (Nikolai Mikhailovsky) และแคเทอรีน เบรชคอฟสกี (Catherine Breshkovsky) พบปะหารือกันขณะร่วมพิธีศพของปีเตอร์ ลัฟโรวิช ลัฟรอฟ (Peter Lavrovich Lavrov)* ผู้นำคนสำคัญของขบวนการนารอดนิค เป็นที่ตกลงกันว่าจะร่วมกันก่อตั้งเป็นพรรคชื่อสันนิบาตสังคมนิยมเกษตร (Agrarian Socialist League) ขึ้นเพื่อเผยแพร่แนวความคิดสังคมนิยมแก่กรรมกรและชาวนาและโน้มน้าวเหล่านักสังคมนิยมรัสเซียในองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒ (Second International)* ที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับแนวทางการปฏิบัติให้เข้าเป็นสมาชิกในช่วงเวลาเดียวกัน วิคเตอร์ มีไฮโลวิช เชียร์นอฟ (Viktor Mikhailovich Chernov)* นักทฤษฎีการเมืองที่สร้างชื่อเสียงจากงานเขียนที่แหลมคมทางการเมืองในนิตยสาร Russkoe Bogatstvo ก็ถูกชักชวนให้เข้าร่วมก่อตั้งพรรคสันนิบาตสังคมนิยมเกษตรด้วย เชียร์นอฟเป็นผู้ร่างหลักนโยบาย ยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของพรรคและรับหน้าที่เป็นบรรณาธิการนิตยสาร Revolyutsionnaya Rossiya (Revolutionary Russia) ซึ่งจะจัดทำขึ้นที่สวิตเซอร์แลนด์เพื่อใช้เป็นสื่อถ่ายทอดอุดมการณ์และนโยบายพรรคระหว่างองค์การนำนอกประเทศกับองค์การพรรคในประเทศ นอกจากนี้ ก็มีการจัดทำนิตยสาร Vestnik Russkoi Revolyutsii (Messenger of the Russian Revolution) ที่กรุงปารีสอีกฉบับหนึ่งเพื่อเผยแพร่งานเขียนเกี่ยวกับทฤษฎีการเมืองและบทความว่าด้วยปัญหาต่าง ๆ ทางสังคมและการเมือง

 เชียร์นอฟและเหล่าสหายร่วมอุดมการณ์เห็นว่ารัสเซียสามารถพัฒนาระบบเศรษฐกิจแบบคอมมูนชาวนาไปสู่ระบบสังคมนิยมได้โดยไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจจากเกษตรกรรมเป็นอุตสาหกรรม และมีการปฏิวัติประชาธิปไตยของชนชั้นกลางเช่นประเทศทุนนิยมตะวันตกอื่น ๆ พวกเขาเชื่อมั่นว่าปัญญาชนปฏิวัติมีหน้าที่และบทบาทสำคัญในการนำอุดมการณ์สังคมนิยมไปสู่ประชาชนและปลุกจิตสำนึกทางการเมืองของชาวนาให้ตื่นขึ้นและลุกฮือก่อการปฏิวัติเพื่อสร้างสังคมแห่งความเสมอภาค แม้แกนนำทุกคนจะยอมรับแนวความคิดของคาร์ล มากซ์ (Karl Marx)* นักสังคมนิยมที่มีชื่อเสียงชาวเยอรมัน ที่ว่ากรรมกรคือพลังหลักของการปฏิวัติ แต่พวกเขาก็เชื่อมั่นว่าชาวนาคือชนชั้นที่เป็นพลังหลักของการก่อการปฏิวัติในรัสเซียและมีบทบาทสำคัญที่ทำให้การลุกฮือปฏิวัติมีชัยชนะโดยชาวนาจะเป็นกองหน้าของการปฏิวัติ (vanguard of the revolution) หรือเป็นพันธมิตรของกรรมกร ในการก่อการปฏิวัติจะต้องจุดชนวนการลุกฮือขึ้นสู้ทั้งในชนบทและในเมืองพร้อมกันและต้องจัดตั้งกองทัพชาวนาขึ้นด้วย พวกเขาเห็นว่าสังคมนิยมคือการโอนที่ดินเป็นของรัฐ (socialization of the land) และนำมาจัดสรรแก่ชาวนาตามความต้องการของแต่ละคนแม้พวกเขาจะไม่ให้รายละเอียดของแนวทางปฏิบัติในการโอนที่เป็นของรัฐและวิธีการจัดสรรที่ดิน แต่หลักการที่เสนอก็เป็นที่ชื้นชอบของชาวนา เกษตรกร และพวกนารอดนิคในปลายฤดูหนาว ค.ศ. ๑๙๐๑ ผู้แทนองค์การปฏิวัติแนวทางนารอดนิคกลุ่มต่าง ๆ จัดประชุมใหญ่ขึ้นที่กรุงปารีสและจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองขึ้นได้สำเร็จโดยใช้ชื่อใหม่ว่าพรรคสังคมนิยมปฏิวัติแทนชื่อสันนิบาตสังคมนิยมเกษตรที่เคยคิดกันไว้

 พรรคสังคมนิยมปฏิวัติกำหนดหลักนโยบายเป็น ๒ ส่วน คือ นโยบายสูงสุดว่าด้วยการดำเนินการปฏิวัติสังคมนิยมเพื่อสถาปนาอำนาจเผด็จการของชนชั้นกรรมาชีพและการสร้างสังคมแห่งความเสมอภาคที่ปราศจากชนชั้นและการสูญสลายของ “รัฐ” นโยบายเฉพาะหน้าที่ต้องเร่งดำเนินการคือการก่อการปฏิวัติโค่นล้มระบอบซาร์และสร้างระบอบสาธารณรัฐประชาธิปไตย การยกเลิกระบบทาสติดที่ดิน และการโอนที่ดินเป็นของรัฐเพื่อแบ่งสันให้แก่ชาวนาการจัดระบบภาษีที่เป็นธรรมและให้สิทธิแก่สหภาพแรงงานรวมทั้งให้สวัสดิการสังคมด้านต่าง ๆ และอื่น ๆ หลักนโยบายของพรรคยังเน้นเอกลักษณ์ที่ว่าพรรคสังคมนิยมปฏิวัติเป็นพรรคของปัญญาชนปฏิวัติที่ชี้นำชาวนาและเกษตรกร ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๐๒ กรีกอรี เกียร์ชูนี ผู้ร่วมก่อตั้งพรรคคนสำคัญก็จัดตั้งองค์การต่อสู้ของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ (SR Combat Organization) ขึ้นโดยมีนโยบายก่อการร้ายและใช้ความรุนแรงเพื่อโค่นล้มรัฐบาลและผลักดันการปฏิวัติให้เกิดขึ้น เกียร์ชูนีเป็นผู้นำขององค์การซึ่งถือเป็นหน่วยงานลับที่สมาชิกปิดลับและปฏิบัติงานอย่างอิสระโดยไม่ขึ้นต่อองค์การนำพรรค หน้าที่และความรับผิดชอบหลักขององค์การต่อสู้คือ การก่อความปั่นป่วนวุ่นวายในสังคมและทำลายกลไกอำนาจรัฐให้ไร้ประสิทธิภาพจนรัฐบาลไม่สามารถควบคุมและแก้ไขได้ทั้งกดดันบังคับให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาการเมือง การก่อการร้ายและการสังหารบุคคลสำคัญในรัฐบาลจะเป็นการปลุกระดมโฆษณาชวนเชื่อให้ประชาชนยอมรับบทบาทของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติในการนำการปฏิวัติ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๒-๑๙๐๔ องค์การต่อสู้ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานลอบสังหารบุคคลสำคัญของรัฐบาลหลายคน เช่น นิโคไล โบโกเลปอพ (Nikolai Bogolepov) เสนาบดีกระทรวงศึกษาธิการ ดิมีตรี ซีเปียกิน (Dimitry Sipyagin) เสนาบดีกระทรวงมหาดไทย และแกรนด์ดุ๊กแชร์จ (เชียร์จ) อะเล็กซานโดรวิช (Serge Alexandrovich) ข้าหลวงแห่งมอสโก

 ความสำเร็จของการก่อตั้งพรรคสังคมนิยมปฏิวัติมีส่วนทำให้วลาดีมีร์ เลนิน (Vladimir Lenin)* ผู้นำคนสำคัญของกลุ่มลัทธิมากซ์นอกประเทศเห็นความจำเป็นที่ต้องเร่งจัดตั้งพรรคลัทธิมากซ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังจากที่ล้มเหลวมาแล้วใน ค.ศ. ๑๘๙๘ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๑-๑๙๐๓ กลุ่มลัทธิมากซ์ทั้งในและนอกประเทศพยายามสร้างความเป็นเอกภาพทางความคิดในแนวนโยบายและทิศทางการเคลื่อนไหวปฏิวัติโดยใช้หนังสือพิมพ์ Iskra เป็นเครื่องมือสร้างเครือข่ายงานการเมืองเพื่อสร้างพรรคปฏิวัติขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๐๓ กลุ่มลัทธิมากซ์ก็ประสบความสำเร็จในการจัดประชุมใหญ่ผู้แทนพรรคครั้งที่ ๒ ขึ้นที่กรุงลอนดอนและนำไปสู่การก่อตั้งพรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียขึ้นได้สำเร็จ อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งภายในก็ทำให้พรรคแรงงานสังคมประชาธิปไตยรัสเซียแบ่งแยกเป็น ๒ พรรคอย่างไม่เป็นทางการ คือ พรรคบอลเชวิคที่มีเลนินเป็นผู้นำ กับพรรคเมนเชวิคที่มียูลี มาร์ตอฟ (Yuli Martov)* เป็นผู้นำ ทั้งพรรคบอลเชวิคและเมนเชวิคจึงกลายเป็นพรรคคู่แข่งสำคัญของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๒-๑๙๐๕ แม้พรรคสังคมนิยมปฏิวัติจะมีแนวทางการเคลื่อนไหวปฏิวัติที่ใช้ความรุนแรงและการก่อการร้ายทั้งถูกตำรวจลับคุกคามกวาดล้างและจับกุมอย่างต่อเนื่อง แต่พรรคสังคมนิยมปฏิวัติก็ยังคงเป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมจากประชาชนส่วนใหญ่มากกว่าพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายอื่น ๆ และสามารถสร้างเครือข่ายหน่วยปฏิบัติงานใต้ดินท้องถิ่นกว่า ๔๐ แห่งทั่วประเทศ

 เมื่อเกิดเหตุการณ์วันอาทิตย์นองเลือด (Bloody Sunday)* ขึ้นที่กรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กในต้นเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๕ พรรคสังคมนิยมปฏิวัติเห็นเป็นโอกาสเคลื่อนไหวปลุกระดมทางการเมืองโดยชี้นำให้ประชาชนเห็นว่าซาร์นิโคลัสที่ ๒ (Nicholas II)* ทรงเป็นทรราช ขณะเดียวกันก็ใช้แนวทางรุนแรงสร้างความวุ่นวายทางสังคมขึ้นและสนับสนุนชาวนาให้ก่อการจลาจลในชนบทด้วยการเข้ายึดที่ดินและทำลายทรัพย์สินของเจ้าที่ดินในเดือนมิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๕ พรรคสังคมนิยมปฏิวัติมีบทบาทสำคัญในการปลุกระดมกรรมกรในเมืองโอเดสซา (Odessa) ให้เคลื่อนไหวนัดหยุดงานต่อต้านรัฐบาลและสนับสนุนทหารเรือและกะลาสีเรือรบโปเทมกิน (Potemkin) ในเหตุการณ์กบฏโปเทมกิน (Potemkin Mutiny)* นอกจากนี้ ในการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ (Revolution of 1905)* ในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ พรรคสังคมนิยมปฏิวัติยังเคลื่อนไหวชี้นำกรรมกรแห่งสหภาพรถไฟและไปรษณีย์โทรเลขให้ชุมนุมนัดหยุดงานทั่วไป ซึ่งส่งผลให้การคมนาคมขนส่งและการติดต่อสื่อสารหยุดนิ่ง ผู้แทนของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติได้เข้าร่วมจัดตั้งโซเวียตผู้แทนคนงาน (Soviet of Worker’s Deputies) ด้วยและร่วมมือกับพรรคการเมืองสังคมนิยมอื่น ๆ เรียกร้องการปฏิรูปทางการเมือง ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงพยายามควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองและสังคมโดยพยายามหลีกเลี่ยงการใช้กำลังและนำไปสู่การประกาศ “คำแถลงนโยบายเดือนตุลาคม” (October Manifesto) เมื่อวันที่ ๑๗ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๐๕ ซึ่งให้สิทธิเสรีภาพแก่ประชาชนในการชุมนุมและการแสดงออกทางความคิดเห็นรวมทั้งการจัดตั้งสภาดูมา (Duma)* และอื่น ๆ คำแถลงนโยบายเดือนตุลาคมทำให้กระแสการปฏิวัติอ่อนตัวลงและเปิดโอกาสให้รัฐบาลในเวลาต่อมายุบสภาโซเวียตแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและจับกุมแกนนำสภาโซเวียตซึ่งรวมทั้งเลออน ตรอตสกี (Leon Trotsky)* ประธานสภาโซเวียตแห่งเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก การกวาดล้างดังกล่าวทำให้สภาโซเวียตมอสโกมีมติให้ชุมนุมต่อต้านและลุกขึ้นสู้ในเดือนธันวาคม พรรคสังคมนิยมปฏิวัติผนึกกำลังกับพรรคบอลเชวิคสนับสนุนการลุกขึ้นสู้ที่มอสโกอย่างเต็มกำลังแต่รัฐบาลก็โหมกำลังปราบปรามอย่างหนักจนมีชัยชนะ

 ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๐๖ พรรคสังคมนิยมปฏิวัติจัดประชุมใหญ่ครั้งแรกขึ้นที่เมืองอิมาทรา (Imatra) ทางตะวันออกของฟินแลนด์ ไม่ห่างจากพรมแดนฟินแลนด์-รัสเซียเท่าใดนัก เพื่อสรุปบทเรียนของความพ่ายแพ้ของการปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕ และประเมินสถานการณ์ทางการเมืองเพื่อกำหนดแนวทางการเคลื่อนไหว ในการประชุมครั้งนี้ เชียร์นอฟ ได้รับเลือกเป็นผู้นำพรรคด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น ที่ประชุมมีมติให้ควํ่าบาตรสภาดูมาโดยไม่ส่งผู้แทนเข้ารับการเลือกตั้งในสภาดูมาสมัยแรก (๑๐ พฤษภาคม - ๒๑ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๐๖) อย่างไรก็ตาม พรรคสังคมนิยมปฏิวัติก็เคลื่อนไหวนอกสภาสนับสนุนสมาชิกสภาดูมาที่เป็นผู้แทนกลุ่มชาวนาปีกซ้ายที่รวมตัวกันเรียกชื่อกลุ่มว่า ตรูโดวิค (Trudovik) ซึ่งเรียกร้องการยกเลิกระบบกรรมสิทธิ์ที่ดินและให้โอนที่ดินทั้งหมดเป็นของรัฐและให้ชาวนามีสิทธิเช่าที่ดินทำกินได้อย่างเสมอภาค แต่ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกับสภาดูมาทำให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงประกาศยุบสภาในที่สุด ต่อมาในฤดูร้อน ค.ศ. ๑๙๐๖ เมื่อชาวนาก่อความไม่สงบขึ้นอีกและทหารเรือที่ฐานทัพเรือเมืองวีบอร์ก (Vyborg) และครอนชตัดท์ (Kronstadt) เคลื่อนไหวสนับสนุนชาวนา พรรคสังคมนิยมปฏิวัติพยายามประสานงานการเคลื่อนไหวกับสหภาพชาวนารัสเซียทั้งมวล (All-Russian Peasant Union) เพื่อหนุนช่วยการก่อจลาจล แต่ก็ประสบความล้มเหลวเพราะปิออตร์ อาร์คัดเยวิช สโตลิปิน (Pyotr Arkadyevich Stolypin)* เสนาบดีกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ประกาศกฎอัยการศึกและใช้กำลังปราบปรามอย่างรุนแรงและเด็ดขาด

 การเลือกตั้งผู้แทนสภาดูมาสมัยที่ ๒ ในเดือนกุมภาพันธ์ ค.ศ. ๑๙๐๗ พรรคสังคมนิยมปฏิวัติได้รับเลือก ๓๔ ที่นั่งและเป็นที่น่าประหลาดใจว่าพรรคซึ่งก่อน ค.ศ. ๑๙๐๕ ไม่มีฐานเสียงในรัสเซียเลยกลับได้เสียงสนับสนุนมากจากเขตโรงงานอุตสาหกรรมในกรุงเซนต์ปีเตอร์สเบิร์กและที่บาคู (Baku) ซึ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมนํ้ามัน นับเป็นชัยชนะที่สำคัญของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ อย่างไรก็ตาม สภาดูมาสมัยที่ ๒ (๕ มีนาคม - ๑๖ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๐๗) ก็บริหารงานเพียงช่วงเวลาอันสั้นเพราะสมาชิกพรรคการเมืองฝ่ายขวาซึ่งกุมเสียงข้างมากมักคำนึงผลประโยชน์ของตนมากกว่าของพรรคและประเทศชาติ จึงมักขัดแย้งกันในเรื่องต่าง ๆ และซาร์นิโคลัสที่ ๒ ซึ่งทรงไม่พอพระทัยการบริหารของสภาดูมาก็ทรงปฏิเสธไม่ลงพระปรมาภิไธยในร่างกฎหมายที่ผ่านสภาหลายครั้ง รัฐบาลจึงหาเหตุยุบสภาโดยอ้างหลักฐานเท็จเกี่ยวกับแผนปลงพระชนม์ที่สายลับตำรวจสร้างขึ้นและนำไปสู่การยุบสภาเมื่อวันที่ ๑๖ มิถุนายน หลังการยุบสภา รัฐบาลได้แก้ไขกฎหมายการเลือกตั้งใหม่โดยแบ่งเขตเลือกตั้งมากขึ้นและกำหนดคุณสมบัติด้านทรัพย์สินของผู้สมัครรับเลือกตั้งให้สูงขึ้นเพื่อลดจำนวนผู้แทนของกลุ่มกรรมกรและชาวนาให้น้อยลง ตลอดจนตัดสิทธิของผู้หญิงและชนกลุ่มน้อยต่าง ๆ พรรคสังคมนิยมปฏิวัติต่อต้านกฎหมายเลือกตั้งฉบับนี้และไม่ยอมส่งผู้แทนเข้ารับการเลือกตั้งทั้งในสภาดูมาสมัยที่ ๓ (๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๐๗ - ๙ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๒) และสภาดูมาสมัยที่ ๔ (๑๔ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๒ - ๙ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗)

 ในช่วงที่รัสเซียกำลังพัฒนาแนวทางการปกครองระบอบประชาธิปไตยซึ่งทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพทางการเมืองที่มั่นคงนั้น รัฐบาลได้ใช้เงื่อนไขความซบเซาของการเคลื่อนไหวปฏิวัติกวาดล้างองค์การปฏิวัติอย่างหนักและต่อเนื่องทั้งส่งอดีตผู้ปฏิบัติงานที่หันมาร่วมมือกับรัฐบาลให้แทรกซึมเป็นสายลับในขบวนการกรรมกรและองค์การพรรคปฏิบัติการของสายลับสองหน้าดังกล่าวมีส่วนทำให้เครือข่ายงานปฏิวัติถูกเปิดโปงและกวาดล้าง ใน ค.ศ. ๑๙๐๘ วลาดีมีร์ บุร์ตซอฟ (Vladimir Burtsev) นักสืบสมัครเล่นซึ่งเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติเสนอรายงานลับเรื่องหนอนบ่อนไส้ในองค์การพรรคแก่องค์การนำและชี้แนะว่าเอฟโน อะเซฟ (Evno Azef) หัวหน้าองค์การต่อสู้พรรคสังคมนิยมปฏิวัติเป็นสายลับตำรวจ ข้อหาดังกล่าวกลายเป็นเรื่องโด่งดังที่มีส่วนทำลายชื่อเสียงของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติและทำให้มวลชนขาดศรัทธาความเชื่อมั่นในองค์การพรรค อะเซฟแฝงตัวเข้าทำงานในองค์การพรรคตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๐๓ และได้รับความไว้วางใจอย่างมากจากกรีกอรี เกียร์ชูนี หัวหน้าองค์การต่อสู้ของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ เขาส่งข่าวการดำเนินงานขององค์การต่อสู้ให้ตำรวจลับทราบและหักหลังเกียร์ชูนีโดยให้เบาะแสการเคลื่อนไหวจนเกียร์ชูนีถูกจับและถูกตัดสินประหารแต่ได้รับการลดหย่อนโทษให้จำคุกตลอดชีวิต อะเซฟได้รับเลือกให้เป็นหัวหน้าองค์การต่อสู้สืบแทนเกียร์ชูนี

 ระหว่าง ค.ศ. ๑๙๐๔-๑๙๐๗ อะเซฟประสบความสำเร็จหลายครั้งในการวางแผนสังหารบุคคลสำคัญในวงราชการ รวมทั้งการสังหารบาทหลวงเกออร์กี อะปอลโลโนวิช กาปอน (Georgi Apollonovich Gapon)* ใน ค.ศ. ๑๙๐๖ เขาจึงมีบทบาทสำคัญในองค์การพรรค อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๐๖ เป็นต้นมา ตำรวจมักสืบทราบความเคลื่อนไหวของผู้ปฏิบัติงานของพรรคและเข้ากวาดล้างสายงานของพรรคในระดับต่าง ๆ ได้บ่อยครั้งจนการดำเนินงานของพรรคแทบจะหยุดนิ่ง ข่าวลือเรื่องหนอนบ่อนไส้ในพรรคและข่าวจากฝ่ายตำรวจที่รั่วไหลว่า อะเซฟได้รับเงิน ๑๐,๐๐๐ รูเบิลต่อเดือนจากตำรวจลับทำให้การเปิดโปงอะเซฟเป็นเรื่องใหญ่ที่ทุกฝ่ายให้ความสนใจ ในระยะแรก ฝ่ายผู้นำองค์การพรรคปฏิเสธที่จะเชื่อเรื่องดังกล่าว และเห็นว่าฝ่ายตำรวจพยายามกลบข่าวความสำเร็จของการก่อการร้าย ส่วนอะเซฟก็ปฏิเสธข้อหาและขอพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนในศาล อย่างไรก็ตามในที่สุดอะเซฟก็จนมุมต่อพยานหลักฐานและยอมรับการเป็นจารชนสองหน้าทั้งในหน่วยงานของตำรวจและองค์การพรรคสังคมนิยมปฏิวัติ เขาถูกตัดสินจำคุก แต่ต่อมาก็สามารถหลบหนีได้ ทั้งมีข่าวลือว่าตำรวจรู้เห็นเป็นใจในการหลบหนีและเขายังได้รับเงินก้อนใหญ่จากเสนาบดีว่าการกระทรวงมหาดไทย ต่อมา ใน ค.ศ. ๑๙๑๒ อะเซฟพยายามขอกลับเข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติอีกและพร้อมที่จะรับโทษตามที่พรรคกำหนด เรื่องของอะเซฟจึงเป็นประเด็นโต้แย้งกันมากในพรรคแต่พรรคสังคมนิยมปฏิวัติก็ไม่มีมติใด ๆ เกี่ยวกับเขา

 กรณีเรื่องอะเซฟทำให้กรรมาธิการกลางพรรคสังคมนิยมปฏิวัติหลายคนต้องลาออกและมีการปรับระบบงานภายในองค์กรของพรรคใหม่ ตลอดจนตรวจสอบประวัติสมาชิกพรรคอย่างเข้มงวดมากขึ้นแม้พรรคจะยังมีมติว่าการก่อการร้ายและความรุนแรงเป็นหลักนโยบายของพรรคสืบต่อไป แต่จะไม่เน้นเป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญมากนัก มติดังกล่าวทำให้การก่อการร้ายของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติหลัง ค.ศ. ๑๙๐๙ เป็นต้นมาลดน้อยลง พรรคสังคมนิยมปฏิวัติปรับยุทธวิธีการเคลื่อนไหวลงสูใต้ดินเพื่อชุ่มซ่อนรอคอยโอกาสขณะเดียวกันก็พยายามร่วมมือกับกลุ่มการเมืองอื่น ๆ ในสภาดูมาเท่าที่สามารถทำได้ ในช่วงเวลาที่พรรคสังคมนิยมปฏิวัติกำลังปรับปรุงการดำเนินงานอยู่นั้น อะเล็กซานเดอร์ เคเรนสกี (Alexander Kerensky)* ทนายความที่เชื่อมั่นในอุดมการณ์สังคมนิยมซึ่งต้องการเข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติแต่ถูกปฏิเสธเพราะพรรคสังคมนิยมปฏิวัติกำลังปรับโครงสร้างภายในและปิดรับสมาชิกก็ได้รับเลือกเป็นผู้แทนของกลุ่มตรูโดวิคในสภาดูมาสมัยที่ ๔ ในปลาย ค.ศ. ๑๙๑๒ เคเรนสกีประกาศจุดยืนว่าเขาจะถอนตัวจากกลุ่มตรูโดวิคทันที หากพรรคสังคมนิยมปฏิวัติพร้อมที่จะต่อสู้ในระบบสภาและรับเขาเป็นสมาชิก เคเรนสกีซึ่งได้ชื่อว่าเป็นทนายผู้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมจึงเป็นเสมือนผู้แทนของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติในสภาดูมา เขามีส่วนประชาสัมพันธ์พรรคสังคมนิยมปฏิวัติให้เป็นที่รู้จักในสภาดูมาและสหภาพแรงงาน

 ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* พรรคสังคมนิยมปฏิวัติกลับมาเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างเปิดเผยอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับรณรงค์ต่อต้านสงครามในการประชุมระหว่างประเทศครั้งแรกของผู้แทนสังคมนิยมที่เมืองซิมเมอร์วัลด์ (Zimmerwald) สวิตเซอร์แลนด์ในต้นเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๕ พรรคสังคมนิยมปฏิวัติสนับสนุนแนวทางของกลุ่มนักสังคมนิยมสายกลางที่เรียกร้องให้สร้างสันติภาพภายในประเทศและคัดค้านสงครามอย่างถึงที่สุดทั้งโจมตีพรรคสังคมนิยมในประเทศต่าง ๆ ที่สนับสนุนนโยบายสงครามของประเทศตน ในการประชุมระหว่างประเทศครั้งที่ ๒ ของผู้แทนสังคมนิยมระหว่างวันที่ ๒๔-๓๐ กันยายน ค.ศ. ๑๙๑๖ ที่เมืองคีนทาล (Kienthal) สวิตเซอร์แลนด์ พรรคสังคมนิยมปฏิวัติต่อต้านนโยบายของเลนินและผู้ที่สนับสนุนเขาซึ่งเรียกว่ากลุ่มซ้ายซิมเมอร์วัลด์ (Zimmer-wald Left) ที่เรียกร้องให้ก่อตั้งองค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓ (Third International)* และให้เปลี่ยนสงครามจักรวรรดินิยมที่กำลังดำเนินอยู่ให้เป็นสงครามภายในประเทศเพื่อช่วงชิงอำนาจรัฐ พรรคสังคมนิยมปฏิวัติยืนหยัดในนโยบายคัดค้านสงครามและเรียกร้องให้กรรมกรในประเทศต่าง ๆ เคลื่อนไหวทุกรูปแบบเพื่อยุติสงคราม

 เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์ (February Revolution)* ขึ้นที่กรุงเปโตรกราด (Petrograd) ใน ค.ศ. ๑๙๑๗ สภาดูมาพยายามแก้ไขสถานการณ์โดยกราบทูลให้ซาร์นิโคลัสที่ ๒ ทรงปฏิรูปการเมือง แต่พระองค์ทรงปฏิเสธและสั่งปิดประชุมสภาดูมา สมาชิกสภาดูมากลุ่มก้าวหน้ารวม ๑๒ คนประกาศเพิกเฉยคำสั่งซาร์และจัดตั้งคณะกรรมาธิการชั่วคราวแห่งสภาดูมาขึ้นเพื่อทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองและประสานงานกับสถาบันและองค์การต่าง ๆ และต่อมาก็ประกาศตนเป็นรัฐบาลเฉพาะกาลขึ้น ในช่วงเวลาเดียวกันพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายต่าง ๆ ก็ผลักดันให้มีการจัดตั้งสภาโซเวียตเปโตรกราดแห่งผู้แทนกรรมกรและทหารขึ้นเพื่อคานอำนาจของรัฐบาลเฉพาะกาล การเคลื่อนไหวดังกล่าวจึงเปิดโอกาสให้พรรคสังคมนิยมปฏิวัติในเวลาต่อมาเข้าร่วมทั้งในรัฐบาลเฉพาะกาลและสภาโซเวียต ในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ทั้งรัฐบาลเฉพาะกาลและสภาโซเวียตก็ประกาศการสิ้นสุดอำนาจของรัฐบาลชาร์ซึ่งทำให้ราชวงศ์โรมานอฟ (Romanov)* ซึ่งปกครองประเทศมากว่า ๓๐๐ ปีถึงกาลอวสาน

 รัฐบาลเฉพาะกาลที่จัดตั้งขึ้นมีเจ้าชายเกรกอรี เยฟเกเนียวิช ลวอฟ (Gregory Yevgenyevich Lvov)* นักการเมืองคนสำคัญของพรรคประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitution Democratic Party) หรือพรรคคาเดตส์ (Kadets) เป็นนายกรัฐมนตรี เจ้าชายลวอฟแต่งตั้งเชียร์นอฟผู้นำพรรคสังคมนิยมปฏิวัติเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตร และเคเรนสกีซึ่งหลังการปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์เข้าเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อย่างไรก็ตาม ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและสถานการณ์สงครามทำให้เจ้าชายลวอฟซึ่งล้มเหลวในการบริหารประเทศต้องลาออกจากตำแหน่ง เคเรนสกีจึงเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสืบแทนเมื่อวันที่ ๒๕ กรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน พรรคสังคมนิยมปฏิวัติจึงมีบทบาทสำคัญในรัฐบาลเฉพาะกาล แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่ากรณีเรื่องคอร์นีลอฟ (Kornilov Affair)* ในเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๗ สืบเนื่องจากนายพลลาฟร์ เกออร์เกียวิช คอร์นีลอฟ (Lavr Georgyevich Kornilov)* นายทหารชาตินิยมเชื้อสายคอสแซค (Cossack)* ก่อกบฏเพื่อล้มล้างอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาล รัฐบาลเฉพาะกาลได้ขอความร่วมมือจากสภาโซเวียตให้ช่วยต่อต้านคอร์นีลอฟพรรคบอลเชวิคจึงกลับมีบทบาทสำคัญในการต่อต้านฝ่ายกบฏจนมีชัยชนะ

 หลังกบฏคอร์นีลอฟ ผู้แทนพรรคบอลเชวิคได้รับเลือกเป็นประธานสภาโซเวียตเปโตรกราดและสภาโซเวียตมอสโกแทนพรรคเมนเชวิคและพรรคสังคมนิยมปฏิวัติเคเรนสกีจึงพยายามหาทางทำลายพรรคบอลเชวิคและรักษาฐานอำนาจของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติในรัฐบาลเฉพาะกาลไว้ให้มั่นคงทั้งผนึกกำลังร่วมกับพรรคสังคมนิยมอื่น ๆ เพื่อคานอำนาจพรรคบอลเชวิคในสภาโซเวียต เขาพยายามผนึกกำลังกลุ่มการเมืองต่าง ๆ ให้สนับสนุนรัฐบาลโดยจัดประชุมเพื่อร่วมกันหาทางแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมืองและสังคมและที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (Constituent Assembly) และกำหนดการเลือกตั้งโดยเร็วพรรคสังคมนิยมปฏิวัติจึงประกาศสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลเฉพาะกาลในการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและกำหนดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นในกลางเดือนพฤศจิกายน อย่างไรก็ตาม สมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติจำนวนหนึ่งซึ่งมีมาเรีย สปีรีโดโนวา (Maria Spiridonova) เป็นผู้นำก็ไม่เห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลเฉพาะกาลที่เลื่อนเวลาการปฏิรูปที่ดินออกไปหลังการจัดตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญและการปฏิเสธที่จะถอนตัวออกจากสงคราม สมาชิกกลุ่มนี้ซึ่งได้ชื่อว่าสังคมปฏิวัติปีกซ้ายจึงหันมาสนับสนุนพรรคบอลเชวิคในเวลาต่อมา

 เมื่อเกิดการปฏิวัติเดือนตุลาคม ค.ศ. ๑๙๑๗ พรรคบอลเชวิคซึ่งสามารถโค่นอำนาจรัฐบาลเฉพาะกาลได้ในนามสภาโซเวียตได้เปิดประชุมใหญ่สภาโซเวียตทั่วรัสเซียสมัยที่ ๒ (Second All-Russian Congress of Soviets) ขึ้นที่สมอลนืย (Smolny) ศูนย์บัญชาการปฏิวัติของบอลเชวิคในคืนวันที่ ๒๕ ตุลาคม โดยประกาศสถาปนาอำนาจรัฐของชนชั้นกรรมาชีพและจัดตั้งรัฐบาลโซเวียตบริหารปกครองประเทศ กลุ่มสังคมนิยมปฏิวัติปีกซ้าย ๗ คนได้เข้าร่วมในคณะรัฐบาลโซเวียต แต่สมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติปีกขวาส่วนใหญ่ต่อต้านรัฐบาลโซเวียตและประณามการยึดอำนาจของบอลเชวิคที่ดำเนินการเบื้องหลังพรรคสังคมนิยมอื่น ๆ ในนามสภาโซเวียต พรรคเมนเชวิคและพรรคการเมืองอื่น ๆ ก็ร่วมสนับสนุนด้วยการเดินออกจากที่ประชุม การแบ่งแยกของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติเป็น ๒ ฝ่ายจึงชัดเจนและเด็ดขาด

 หลังการยึดอำนาจทางการเมืองได้ไม่ถึง ๓ สัปดาห์ รัฐบาลโซเวียตดำเนินการให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทั่วประเทศระหว่างวันที่ ๑๕-๑๙ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๗ ผลปรากฏว่าประชาชนส่วนใหญ่ยอมรับระบบสังคมนิยมแต่ไม่สนับสนุนกลุ่มบอลเชวิค พรรคสังคมนิยมปฏิวัติเป็นพรรคการเมืองที่ประชาชนนิยมมากที่สุดเพราะได้ที่นั่ง ๓๗๐ ที่นั่งหรือร้อยละ ๕๗ ของผู้มาใช้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งในขณะที่บอลเชวิคได้เพียง ๑๗๕ คนหรือร้อยละ ๒๕ เท่านั้น และที่เหลือเป็นของพรรคการเมืองอื่น ๆ เชียร์นอฟผู้นำพรรคสังคมนิยมปฏิวัติปีกขวาจึงได้รับเลือกเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม บอลเชวิคพยายามขัดขวางการเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญและต่อมาก็ใช้กองทหารเรดการ์ด (Red Guard) บีบบังคับให้ยุบสภาร่างรัฐธรรมนูญด้วยข้ออ้างว่าสภาร่างรัฐธรรมนูญถูกควบคุมโดยพวกปฏิปักษ์ ปฏิวัติและผลการเลือกตั้งไม่ใช่เจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน การยุบสภาร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวจึงเปิดทางให้บอลเชวิคกลายเป็นพรรคการเมืองเดียวที่มีอำนาจเด็ดขาดในเวลาต่อมา

 ในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ รัสเซียถอนตัวออกจากสงครามโลกครั้งที่ ๑ ด้วยการทำสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest-Litovsk)* กับเยอรมนี พรรคสังคมนิยมปฏิวัติปีกขวาจึงใช้ข้ออ้างการยุบสภาร่างรัฐธรรมนูญและการทำสนธิสัญญาสันติภาพดังกล่าวเรียกร้องให้ฝ่ายสัมพันธมิตรเข้าแทรกแซงภายในรัสเซียและนำไปสู่การเกิดสงครามกลางเมืองรัสเซีย (Russian Civil War ค.ศ. ๑๙๑๘-๑๙๒๑)* พรรคสังคมนิยมปฏิวัติร่วมมือกับพรรคเมนเชวิคจัดตั้งรัฐบาลที่เรียกชื่อว่า “คณะกรรมการอำนวยการ” ขึ้นที่เมืองออมสค์ (Omsk) ในไซบีเรีย โดยมีเป้าหมายจะโค่นอำนาจรัฐบาลโซเวียตและล้มเลิกสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ อย่างไรก็ตาม ปัญหาขัดแย้งเกี่ยวกับแนวนโยบายและกองกำลังที่ไม่เข้มแข็งพอก็ทำให้กลุ่มทหารฝ่ายอนุรักษนิยมก่อกบฏล้มอำนาจคณะกรรมการอำนวยการลง พลเรือเอก อะเล็กซานเดอร์ คอลชาค (Alexander Kolchak)* ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพให้เป็นผู้ปกครองสูงสุดสืบแทนคณะกรรมการอำนวยการ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองดังกล่าวทำให้ฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติปีกขวาหมดบทบาทลงและบ้างก็เริ่มลี้ภัยออกนอกประเทศ

 การลงนามในสนธิสัญญาเบรสต์-สิตอฟสค์ ค.ศ. ๑๙๑๘ ยังมีส่วนทำให้สมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติปีกซ้ายจำนวนหนึ่งที่สนับสนุนรัฐบาลโซเวียตไม่พอใจและหาทางสร้างปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศขึ้น สมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติปีกซ้าย ๒ คนจึงวางแผนสังหารเคานต์ วิลเฮล์ม ฟอน เมียร์บัค (Wilhelm von Mirback) เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำกรุงมอสโกจนประสบความสำเร็จ การสังหารดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายจะกระตุ้นความโกรธแค้นแก่เยอรมนีเพื่อให้บุกโจมตีสหภาพโซเวียตและทำให้เกิดการลุกฮือต่อต้านบอลเชวิค กลุ่มสังคมนิยมปฏิวัติยังเข้ายึดกรมไปรษณีย์และจับประธานโซเวียตมอสโกและแกนนำคนสำคัญของบอลเชวิค ๒-๓ คน เป็นตัวประกันทั้งประกาศว่าฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติสามารถยึดอำนาจในกรุงมอสโกได้ รัฐบาลโซเวียตตอบโต้ด้วยการประกาศใช้มาตรการรุนแรงปราบปรามฝ่ายกบฏและให้เชกา (CHEKA)* หรือหน่วยตำรวจลับและกองทัพแดง (Red Army)* ดำเนินการกวาดล้างการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลของพรรคสังคมนิยมปฏิวัติทั้งปีกซ้ายและปีกขวาอย่างเด็ดขาดรวมทั้งกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามอื่น ๆ

 ในปลายเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ฟาเนีย คัปลัน (Fanya Kaplan) อดีตสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติปีกขวาลอบยิงเลนินในขณะที่เขาไปร่วมงานเลี้ยงของกรรมกรโรงงานมีเคลซัน (Mikhelson) ในกรุงมอสโก แม้เลนินจะรอดชีวิตแต่ก็บาดเจ็บสาหัส ในวันเดียวกันนั้น นักศึกษาหัวรุนแรงซึ่งเป็นสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติก็ลอบสังหาร มอยเซย์ อูริตสกี (Moisei Uritsky) หัวหน้าเชกาแห่งนครเปโตรกราดเสียชีวิต รัฐบาลโซเวียตจึงเห็นเป็นโอกาสใช้สถานการณ์ดังกล่าวกำจัดฝ่ายตรงข้ามด้วยการประกาศว่าการลอบสังหารเลนินและอูริตสกีเป็นฝีมือของฝ่ายปฏิปักษ์ปฏิวัติที่ทั้งพรรคสังคมนิยมปฏิวัติและพรรคเมนเชวิคมีส่วนเกี่ยวข้อง

 ในกลางเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๑๘ พรรคการเมืองทั้ง ๒ พรรคก็ถูกขับออกจากคณะกรรมการบริหารกลางรัสเซียทั้งมวลแห่งสภาโซเวียต (All-Russian Central Executive Committee of the Soviet Congress-VTSLK) และสื่อสิ่งพิมพ์ของพรรคถูกปิด พรรคบอลเชวิคจึงกุมอำนาจเด็ดขาดเพียงพรรคเดียวสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติปีกซ้ายที่หนีรอดการกวาดล้างจึงหันไปร่วมมือกับสมาชิกพรรคสังคมนิยมปฏิวัติปีกขวาที่ไซบีเรีย และบ้างยอมเข้าเป็นสมาชิกบอลเชวิคหรือมิฉะนั้นก็หนีออกไปเคลื่อนไหวนอกประเทศ อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของกองทัพแดงในสงครามกลางเมืองใน ค.ศ. ๑๙๒๑ และการปฏิบัติงานอย่างเข้มแข็งของเชกาก็ทำให้การเคลื่อนไหวต่อต้านของฝ่ายสังคมนิยมปฏิวัติอ่อนกำลังจนยุบเลิกไปในที่สุด.



คำตั้ง
Socialist Revolutionary Party
คำเทียบ
พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ
คำสำคัญ
- กรณีเรื่องคอร์นีลอฟ
- กลุ่มเจตจำนงประชาชน
- กลุ่มซ้ายซิมเมอร์วัลด์
- กลุ่มสังคมนิยมปฏิวัติรัสเซียใต้
- กองทัพแดง
- การปฏิวัติ ค.ศ. ๑๙๐๕
- การปฏิวัติเดือนกุมภาพันธ์
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- เกียร์ชูนี, กรีกอรี
- คณะกรรมการอำนวยการ
- คอลชาค, พลเรือเอก อะเล็กซานเดอร์
- คอสแซค
- คัปลัน, ฟาเนีย
- คำแถลงนโยบายเดือนตุลาคม
- เคเรนสกี, อะเล็กซานเดอร์
- เชกา
- ซีเปียกิน, ดิมีตรี
- ตรอตสกี, เลออน
- ทาสติดที่ดิน
- นารอดนายาวอลยา
- นารอดนิค
- บอลเชวิค
- บุร์ตซอฟ, วลาดีมีร์
- เบรชคอฟสกี, แคเทอรีน
- พรรคคาเดตส์
- พรรคบอลเชวิค
- พรรคประชาธิปไตย
- พรรคประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ
- พรรคเมนเชวิค
- พรรคแรงงาน
- พรรคสังคมนิยม
- พรรคสังคมนิยมปฏิวัติ
- มากซ์, คาร์ล
- มาร์ตอฟ, ยูลี
- เมนเชวิค
- ระบบทาสติดที่ดิน
- รัสเซียปอปปูลิสต์
- ลัทธิมากซ์
- ลัฟรอฟ, ปีเตอร์ ลัฟโรวิช
- วันอาทิตย์นองเลือด
- สงครามกลางเมืองรัสเซีย
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สโตลิปิน, ปิออตร์ อาร์คัดเยวิช
- สนธิสัญญาเบรสต์-สิตอฟสค์
- สปีรีโดโนวา, มาเรีย
- สภาดูมา
- สภาร่างรัฐธรรมนูญ
- สวิตเซอร์แลนด์
- สหภาพชาวนารัสเซียทั้งมวล
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๒
- องค์การคอมมิวนิสต์สากลที่ ๓
- อูริตสกี, มอยเซย์
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
-
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
-
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
สัญชัย สุวังบุตร
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-